ก้าวทันโลก 2.4

กฎหมายรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐ ถ้าแปลตามความหมายของคำ จะหมายถึง การปกครองรัฐอย่างถูกต้องเป็นธรรม (รัฐ + ธรรม + มนูญ)
ในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" ต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่สิ่งเดียวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้
รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย
ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก
ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 ขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คน ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารที่เรียกว่า "มหากฎบัตร" (The Great Charter, Magna Carta) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระสงฆ์ โดยในมหากฎบัตรได้กำหนด ถึงการจัดองค์กรและการบริหารอำนาจของสภาสูง (Magnum Concillium) และกำหนดว่าพระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีบางอย่างตามที่กำหนดไว้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงมิได้ จะจับกุมคุมขังบุคคลได้ก็ต่อเมื่อ มีคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย มหากฎบัตรนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก
รัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในภาษาของประเทศทั้งสอง คำว่ารัฐธรรมนูญต่างใช้คำว่า Constitution ซึ่งแปลว่า การสถาปนา หรือการจัดตั้ง ซึ่งหมายถึงการสถาปนาหรือจัดตั้งรัฐนั่นเอง โดยทั้งสองประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รัฐธรรมนูญไทยระบุว่าประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (เขียนว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ระบบสองสภา แตกต่างจากในอดีตที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดให้ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้
  1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
  4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
  6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
  7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
  8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
  9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
  11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
  12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
  13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
  14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
  15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
  16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
  17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
  18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550